การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ด้วย 4 ป. กรณีศึกษากลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานตำบลบ้านกลาง  อำเภอวังทอง  จังหวัดพิษณุโลก

 

นายประภาส  บารมี  นายจักรพันธ์  บุญอ่อง    

 

บทคัดย่อ

งานวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ด้วย หลัก 4ป. ในพื้นที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการในช่วงเดือน  พฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน จำนวน 50 คน ที่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานจากสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านกลาง ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ในระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึง กันยายน 2565 และเครือข่ายการดำเนินงานได้แก่ แกนนำสุขภาพชุมชน เจ้าของร้านชำ และ ประชาชนในพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา  ผลการศึกษาพบว่า  ขั้นปฏิบัติการมีการพัฒนาสื่อประกอบการให้สุขศึกษา และการกำหนด Key message สำหรับการสื่อสาร “บ้านกลางร่วมใจ ห่างไกลเบาหวานด้วย 4ป.” ได้แก่ประเมินปัญหา ปรับการรับรู้ เปลี่ยนพฤติกรรมและ ประสานงานเพื่อการมีส่วนร่วม การพัฒนาศักยภาพแกนนำ การให้ความรู้กลุ่มเสี่ยง การติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ขั้นสังเกตผบว่า กลุ่มเสี่ยงเบาหวานมีค่าความดันโลหิต ค่าดัชนีมวลกาย ค่ารอบเอว ความรู้และระดับน้ำตามเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยกลุ่มเสี่ยงลดการบริโภคน้ำอัดลม มีการรับรู้ระดับน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำอัดลม และอ่านฉลากก่อนตัดสินใจ โดยการเลือกเครื่องดื่ม zero ทดแทน และร้านค้าในชุมชนเปลี่ยนการขายน้ำอัดลมประเภท zero ทดแทน ขั้นสะท้อนคิด พบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเทคนิค 4 ป. ทำให้กลุ่มเสี่ยงเบาหวานมีการรับรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ภาคีเครือข่ายและแกนนำชุมชนมีบทบาทสำคัญในการติดตาม กระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงและลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นโยบายของและการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของภาคีเครือข่ายโดยการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ร่วมกับการติดตามและดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในชุมชน ที่มีคนต้นแบบเป็นตัวแบบและกระตุ้นการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง

 

คำสำคัญ: การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ, กลุ่มเสี่ยง, โรคเบาหวาน, การมีส่วนร่วมของชุมชน