ศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมสมาธิบำบัดแบบ SKT ต่อการลดระดับความดันโลหิตในกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง

นางสาวจุฬาภรณ์ เหตุทอง นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

นายบุญเสริม ทองช่วย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี บ้านควนปอม ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมสมาธิบำบัดแบบ SKT ต่อการลดระดับความดันโลหิตในกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่ได้รับการคัดกรองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อโรคความดันโลหิตสูง โดยมีเกณฑ์ในการคัดเข้า คือ 1) มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป 2) มีค่าความดันโลหิตตัวบนอยู่ระหว่าง 140 – 179 มิลลิเมตรปรอท หรือมีค่าความดันโลหิตตัวล่างอยู่ระหว่าง 90 – 109 มิลลิเมตรปรอท และ 3) อาศัยอยู่ในพื้นที่ทำการศึกษาอย่างน้อย 6 เดือน 4) ยินยอมเข้าร่วมการวิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง แบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 33 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมสมาธิบำบัดแบบ SKT และกลุ่มควบคุมได้รับโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 3อ จำนวน 8 สัปดาห์ ตัวแปรตาม คือ ความรู้ ความเชื่อ พฤติกรรมสุขภาพ ค่าความดันโลหิตตัวบน และค่าความดันโลหิตตัวล่าง วิเคราะห์ข้อมูลคุณลักษณะทางประชากรด้วยสถิติเชิงพรรณนา และเปรียบเทียบค่าคะแนนความรู้ ความเชื่อ พฤติกรรมสุขภาพ ค่าความดันโลหิตตัวบนและค่าความดันโลหิตตัวล่างด้วยสถิติ Independents t-test และ paired t-test

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนความรู้ (Mean difference = 3.23; 95%CI: 2.58, 3.89) ความเชื่อ (0.83; 0.18, 1.48) และพฤติกรรมสุขภาพ (10.30; 9.35, 11.25) เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงหลังการทดลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีค่าความดันโลหิตตัวบน
(-28.30; -35.56, -21.04) และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (-14.27; -20.04, -8.50) หลังการทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้พบว่าค่าความดันโลหิตตัวบน (-7.78; -14.12, -1.44) และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (-5.09; -9.42, -0.76) ของกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการศึกษาดังกล่าวบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงควรส่งเสริมและสนับสนุนการใช้โปรแกรมสมาธิบำบัดในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เพื่อเป็นการส่งเสริม ป้องกันและลดการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคตต่อไป